นัยต่อการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

จากวิกฤตอาหารโลกที่กล่าวมาข้างต้น สำหรับประเทศไทยแล้วสามารถเรียกวิกฤตดังกล่าวได้ว่า “โอกาส” โดยต้องใช้ความเป็นประเทศเกษตรกรรม ความพร้อมของฐานทรัพยากร การได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐซึ่งเป็นจุดแข็งมาพัฒนาให้เป็น “ครัวของโลก” ตามนโยบายของรัฐบาลได้ โดยต้องมีการบริหารจัดการ และเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้เหมาะสม

2.3.1 สารสนเทศด้านการเกษตร

จุดอ่อนประการสำคัญของประเทศไทยคือการบริหารจัดการ การเชื่อมโยง และการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เริ่มตั้งแต่การเชื่อมโยงข้อมูลด้านเกษตรจากภาครัฐ โดยต้องทำให้ข้อมูลภาครัฐที่มีมาตรฐานต่างกัน เชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้

ข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อการวางแผนการผลิต การจัดทำระบบข้อมูลเชิงพื้นที่โดยใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) การจัดทำคลังข้อมูล (meta data) และการบริหาร เพื่อการวางแผนการใช้ที่ดินสำหรับปลูกพืชพลังงาน พืชอาหาร และปศุสัตว์ ควรมีการวางแผนการใช้ที่ดินสำหรับเกษตรกรรมให้เพียงพอต่อความต้องการ เหมาะสมกับทรัพยากรที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และสภาพภูมิอากาศ โดยจัดโซนนิ่งการเพาะปลูกตามสมรรถภาพของดินในแต่ละพื้นที่ การประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล (Remote sensing) เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือภัยพิบัติที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากดินถล่ม น้ำปนตะกอนบ่า น้ำหลาก และน้ำท่วมขัง ดังนั้นการใช้เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลจาก scale ต่างๆ (ประเทศ, ภาค, จังหวัด, หมู่บ้าน) จะนำไปสู่การตรวจวัดและเฝ้าระวังพื้นที่ได้ละเอียดถึงในระดับชุมชนที่ได้รับผลกระทบตรงและเป็นหน่วยผลิตอาหารที่สำคัญ โดยเตรียมการให้ทุกภาคส่วนมีการตื่นตัว ปรับตัว และรับมือกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น สามารถแปลงวิกฤติเป็นโอกาสได้อย่างกลมกลืน นอกจากนี้การกำหนดนโยบายส่งเสริมและใช้มาตรการจูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูกตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรที่เป็นความมั่นคงทางอาหารของชาติให้แข็งแกร่งแข่งขันได้

การเข้าถึงข้อมูลการตลาดและข้อมูลที่จำเป็นอื่นๆ ของเกษตรกรและผู้ประกอบการอาหาร การค้าออนไลน์ และการใช้ระบบตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะระบบตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าเป็นการประกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรได้ และพัฒนาให้เกษตรกรและผู้ประกอบการอาหารมีความรู้เกี่ยวกับทิศทางของการผลิตและราคาสินค้าล่วงหน้า เพื่อปรับแผนการผลิตให้มีความยืดหยุ่น และสอดคล้องกับสถานการณ์การค้าที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

2.3.2 ผลิตภาพการผลิต

พัฒนาให้ภาคเกษตรและอาหารของไทยมีความสามารถมากขึ้นในการแข่งขันกับต่างประเทศ เร่งสร้างผลิตภาพ (Productivity) เพื่อเพิ่มผลผลิตและยกระดับรายได้ การพัฒนาและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในกระบวนการผลิต ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์พืช เทคโนโลยีการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาและการแปรรูป เพื่อให้เกษตรกรไทยเป็น smart farmer สิ่งสำคัญคือ ควรใช้เทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งกำเนิดสินค้าได้เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อตกลงระหว่างประเทศ และเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศนอกระบบภาษี (non-tariff barrier) นอกจากนี้ควรส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บ และการขนส่งสินค้าให้ปลอดภัยและประหยัดพลังงาน เช่น เทคโนโลยีบาร์โคด และ RFID (Radio-frequency identification) รวมถึง GPS (Global Positioning System)

2.3.3 มาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

ในเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร ในอนาคตอาหารพร้อมปรุง ในบรรจุภัณฑ์ที่พร้อมอุ่นด้วยไมโครเวฟมีแนวโน้มการบริโภคมากขึ้น เนื่องจากความเป็นแมืองแผ่ขยายมากขึ้น วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และพฤติกรรมการบริโคก็เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการทำรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้สะดวก ปลอดภัย ลวดลายมีความสวยงามดึงดูดสายตาผู้บริโภค โดยใช้จุดแข็งของคนไทยที่มีศิลปะและความสร้างสรรค์

2.3.4 บริหารจัดการความรู้

การจัดการความรู้ภาคเกษตร เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ การผลิต และความมั่นคงทางอาหารของประเทศ เป็นที่ทราบกันดีว่าประชากรทีประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีประมาณ 5.8 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ การพัฒนาที่สำคัญและเร่งด่วนควรเป็นการพัฒนาคนในภาคเกษตรให้สามารถรับข้อมูลข่าวสารได้ทัดเทียมกับคนกลุ่มอื่นในสังคม และมีฐานะความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกับคนส่วนใหญ่ของประเทศ การเรียนรู้ในภาคประชาชนนี้ต้องไม่ติดกับกรอบบทเรียนแต่ต้องเป็นเสริมความสามารถในการเข้าถึงแหล่งความรู้ หรือได้รับการบริการความรู้ตามการร้องขอตามโจทย์และพื้นที่ และควรเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life long learning)

การใช้ ICT ช่วยกระตุ้นเกษตรกรให้เกิดการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของตนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในปัจจุบันเกษตรกรและผู้ผลิตภาคเกษตรและอาหารของไทยมีพื้นฐานการศึกษาที่หลากหลาย โดยทั่วไปเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์มีระดับการศึกษาสูงกว่าเกษตรกรที่ปลูกพืช เกษตรกรที่ปลูกพืชสวน ไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ ในเขตชลประทาน มีการศึกษาสูงกว่าเกษตรกรผู้พืชไร่ (ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน) จากบทความเรื่องเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทย1 ได้อนุมานว่าเกษตรกรไทยมากกว่าร้อยละ 90 มีความสามารถทั้งการอ่านและเขียน และในจำนวนนี้มีสามารถเข้าถึงสื่อวิทยุ และโทรทัศน์ แต่มีเกษตรกรจำนวนน้อยมากที่เข้าถึงข้อมูลสารสนเทศผ่าน internet และใช้สื่อการเรียนรู้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อทัศนคติของการใช้ปัจจัยการผลิต และเทคโนโลยีของเกษตรกร มายาวนาน คือ สื่อ และตัวแทนจำหน่ายในท้องถิ่น (ภาพที่ 2.11) ดังนั้น การส่งเสริมความรู้ทักษะและการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมผ่านสื่อและหน่วยงานเครือข่าย ควรต้องผนวกเข้ากับการเสริมความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อวางแผน เปรียบเทียบทางเลือก และวิธีการต่างๆ อีกด้วย

2.3.5 คุณภาพชีวิตเกษตรกร

เกษตรกรไทยเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เป็นคำพูดที่กลายเป็นอัตลักษณ์ประจำตัวของเกษตรกรไทยไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรไทยยังมีคุณภาพชีวิตที่แตกต่างจากคนไทยในสังคมเมือง ทั้งทางด้านรายได้ การศึกษา ความเป็นอยู่ โครงสร้างพื้นฐาน และการยอมรับในสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ส่งผลให้แรงงานรุ่นใหม่เกิดการเคลื่อนย้ายออกจากภาคเกษตร อาจเกิดการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือในภาคเกษตรในอนาคต อาจทำให้ประเทศต้องพบกับปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร (food insecurity) และความสั่นคลอนทางเศรษฐกิจได้

ข้อมูลจากการศึกษาของ ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอมุมมองของการพัฒนาคนภาคเกษตร โดยเน้นเรื่องความมั่นคงทางวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร (Livelihood security) ประกอบด้วย

  • การทำให้รายได้จากฟาร์มสามารถเป็นรายได้หลักที่สามารถทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความเท่าเทียมกันในสังคม (ability to survive based on farm activities) เพราะรายได้จากการประกอบอาชีพเกษตรอย่างเดียวในขณะนี้ไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องพึ่งรายได้จากนอกภาคเกษตร
  • การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์มในอันที่จะเพิ่มผลผลิตคุณภาพและการจัดการต่อความหลากหลายของวิถีชีวิต (farm efficiency and diversified livelihood)
  • การให้ความสำคัญของการรวมกลุ่มเกษตรเพื่อสะดวกในการจัดการส่งผ่านความรู้และการจัดการเทคโนโลยี ในลักษณะกลุ่มฟาร์มขนาดเล็กที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการและลดความเสี่ยงในการผลิต(intensive farming and risk minimization)
  • การมองเกษตรกรในมุมมองของผู้ผลิตและผู้บริโภคในขณะเดียวกัน(farmers as consumers and producers)

 

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า เกษตรกรมีรายได้จากนอกภาคเกษตรในอัตราส่วนที่สูงกว่ารายได้จากภาคเกษตร (ภาพที่ 2.12) ในฤดูเพาะปลูกเกษตรกรมักต้องไปกู้เงินทั้งจากในและนอกระบบเพื่อมาใช้หมุนเวียนในกระบวนการผลิต ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรก็ตกต่ำเนื่องจากขาดการวางแผนการผลิตที่ดีในระดับมหภาค ทำให้ผลผลิตมากกว่าความต้องการของตลาด รายได้เกษตรกรไม่เพียงพอต่อการใช้หนี้เกิดปัญหาของการเป็นหนี้สินเรื้อรังตามมา นอกจากนี้ปัจจัยเสริมที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้ยังคงอยู่คือ การสนับสนุนจากภาครัฐที่ฉาบฉวย เน้นแก้ปัญหาปลายเหตุมากกว่ารากเหง้าของปัญหา เกษตรกรขาดการเรียนรู้ในการใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ ดังนั้น หากแก้ปัญหาเรื่องราคาสินค้า และต้นทุนการผลิตของภาคเกษตรไม่ได้ ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้เช่นกัน

 

1 รศ.ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล. 2552. เกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรไทย. เอกสารประกอบการสัมมนาสมัชชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา ครั้งที่ 8, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.